คลังปัญญาไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลังปัญญาไทย
ประเภทสารานุกรมออนไลน์, วิกิ
ภาษาที่ใช้ได้ภาษาไทย
เจ้าของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
สร้างโดยดร. ครรชิต มาลัยวงศ์
ยูอาร์แอลwww.panyathai.or.th
เชิงพาณิชย์ใช่
ลงทะเบียนไม่จำเป็น

คลังปัญญาไทย เป็นเว็บไซต์สร้างสารานุกรมออนไลน์ ที่ผู้อ่านสามารถร่วมเขียนเนื้อหาได้ โดยจะเป็นโครงการพัฒนาแหล่งความรู้ภาษาไทย โดยอาศัยสื่ออินเทอร์เน็ต เปิดตัวทางสื่อมวลชนในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549[2] โดยในวันเปิดตัวนั้น ถึงแม้ว่าหน้าเว็บแรกของคลังปัญญาไทยประกาศว่ามีส่วนสารานุกรมต่อยอด แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งานในส่วนของสารานุกรมต่อยอด (ส่วนวิกิ) โดยข้อมูลหลักเก็บไว้ในส่วนเนื้อหาที่ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นแก้ไขตามที่ออกมาในข่าว และต่อมาในวันที่ 4 ธ.ค. ได้เปิดบริการการใช้งานในส่วนวิกินี้ โดยเปิดเป็นส่วนว่างให้ผู้อ่านเพิ่มเติมข้อมูลเข้ามากันเอง

ข้อมูลในเว็บไซต์[แก้]

ข้อมูลหลักของระบบเปิดโอกาสให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลความถูกต้องของข้อมูล โดยมีที่มาของข้อมูลแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ

  1. คลังสะสมองค์ความรู้ เป็นข้อมูลจากแหล่งที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ จากผู้ให้ข้อมูลมาในระดับหนึ่งแล้ว เช่น บทความ บทความเชิงวิชาการ ตำราเรียน วิทยานิพนธ์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และสารานุกรม รวมไปถึง พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส โดยเนื้อหาส่วน ผู้อ่านสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้
  2. สารานุกรมต่อยอด โดยอนุญาตให้บุคคลที่เป็นสมาชิกสามารถเข้ามาปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติมความรู้ใหม่ ๆ เองได้ตลอดเวลา โดยใช้วิกิซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายกับวิกิพีเดีย

โครงการคลังปัญญาไทย พัฒนาขึ้นโดยใช้ซอฟต์แวร์ ดรูพาล (ส่วนคลังสะสมองค์ความรู้) และมีเดียวิกิ (ส่วนสารานุกรมต่อยอด) ดำเนินการโดย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย โดยความสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงศึกษาธิการ มี ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต ดำรงตำแหน่งประธานโครงการ และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นที่ปรึกษาโครงการ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549 และมีเป้าหมายที่จะจัดตั้ง มูลนิธิคลังปัญญาไทย ในปี พ.ศ. 2550

โครงการคลังปัญญาไทย ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 1 ปี ต้องการรวมรวมบทความต่าง ๆ ให้ได้อย่างน้อย 80,000 เรื่อง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่ปี พ.ศ. 2550 จะเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา [3]

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

  • Gotoknow แหล่งความรู้ภาษาไทยที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน