พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาสุริยานุวัตร
(เกิด บุนนาค)
เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 – 1 มิถุนายน พ.ศ. 2449
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์
รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
13 มิถุนายน – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448
เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ดำรงตำแหน่ง
1 มิถุนายน พ.ศ. 2449 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
21 มิถุนายน พ.ศ. 2476 – 30 กันยายน พ.ศ. 2479
นายกรัฐมนตรีพระยาพหลพลหยุหเสนา
อัครราชทูตสยามประจำฝรั่งเศส อิตาลี สเปนและรัสเซีย
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2439 – พ.ศ. 2439
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 เมษายน พ.ศ. 2405
เสียชีวิต30 กันยายน พ.ศ. 2479 (74 ปี)
คู่สมรสคุณหญิงลิ้นจี่
บุตร7 คน
บุพการี
อาชีพข้าราชการ, นักการทูต
ผลงานทรัพยศาสตร์

มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร นามเดิม เกิด บุนนาค เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม) มารดาชื่อ ศิลา เกิดเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2405 เป็นสามัญชนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และลงนามในธนบัตร มีผลงานด้านการเงินการคลังที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา การใช้สตางค์แทนอัฐ การเสนอแนวคิดให้ตั้งธนาคารชาติ และการปฏิรูประบบภาษีโดยให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง นอกจากนั้นยังประพันธ์ตำรา ทรัพยศาสตร์ ซึ่งได้รับยกย่องเป็นหนึ่งใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน ประเภทสารคดี[1]

ประวัติ[แก้]

พระยาสุริยานุวัตร มีนามว่า "เกิด" เกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นบุตรลำดับที่ 22 ของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม)[2] เมื่อเยาว์เข้าศึกษาหนังสือไทยที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ต่อมาในปี พ.ศ. 2414 เดินทางไปศึกษาวิชาที่ปีนังและกัลกัตตา เป็นเวลา 5 ปี จึงกลับมาเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ตำแหน่งนายเวรฤทธิมหาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2419 ต่อมารับราชการกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงตะวันตก มีหน้าที่เป็นผู้เก็บและจ่ายเงินหลวง และเป็นล่ามทำหนังสือราชการเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสุริยานุวัตร ถือศักดินา 600[3]และยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยข้าหลวงมณฑลพายัพในเวลาต่อมาและกำกับตำแหน่งกรมคลังเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

ในปี พ.ศ. 2430 เป็นผู้ช่วยทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน[4]ในระหว่างนี้ยังเรียบเรียงหนังสือเรื่องขนบธรรมเนียมราชการต่างประเทศขึ้น และถือว่าเป็นตำรากฎหมายและการปฏิบัติระหว่างประเทศ เรื่องการทูตภาษาไทยเล่มแรก ต่อมา พ.ศ. 2432 ดำรงตำแหน่งตำแหน่งอุปทูตประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2439 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุริยานุวัตร และเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย ระหว่างนี้ได้รับมอบอำนาจลงนามในสัญญากับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446

13 มิถุนายน พ.ศ. 2448 ได้กลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งรักษาการแทน เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ[5]และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[6]ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ท่านจัดการโอนจำหน่ายฝิ่นจากนายอากรมาเป็นรัฐบาลทำเอง ยังคิดวิธีเปลี่ยนระบบการเงินของไทย จากมาตราเงินเป็นมาตราทองคำ และคิดทำสตางค์ขึ้นใช้แทนอัฐ ต่อมาลาออกจากราชการเมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450[7]

ในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี ท่านเขียนหนังสือเรื่อง ทรัพยศาสตร์ จำนวน 3 เล่ม ซึ่งถือว่า เป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทย นอกจากนั้นยังได้เขียนบทความทางเศรษฐกิจลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง บทความที่สำคัญและมีชื่อเสียงมากคือ เรื่อง ธนาคารชาติ ในปี พ.ศ. 2476 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ทำหน้าที่ เป็นที่ปรึกษาอาวุโสของรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายก เป็นตัวแทนของรัฐบาลไปเจรจากับเจ้านายฝ่ายเหนือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงอนิจกรรมในรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2479 ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมอายุ 74 ปี[8]

ตำแหน่งและบรรดาศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2427 หลวงสุริยานุวัตร
  • พ.ศ. 2430 ผู้ช่วยราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์
  • 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 พระสุริยานุวัตร ถือศักดินา 800[9]
  • 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 พระยาสุริยานุวัตร ถือศักดินา 1600[10]
  • 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 อัครราชทูตประจำ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน โปรตุเกส[11]
  • 13 มิถุนายน พ.ศ. 2448 รักษาการแทนเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
  • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
  • 1 มิถุนายน พ.ศ. 2449 เสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ[12]
  • 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 มหาอำมาตย์เอก นอกราชการ[13]

ครอบครัว[แก้]

พระยาสุริยานุวัตร กับ คุณหญิงลิ้นจี่ และบุตรธิดา ขณะเป็นอัครราชทูตที่ปารีส พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903)

ด้านชีวิตส่วนตัว มีภรรยาชื่อ คุณหญิงลิ้นจี่ ธิดาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) มีบุตรธิดา 7 คน คือหลวงสุริยพงศ์พิสุทธิแพทย์ (กระจ่าง) แพทย์ประจำกรมรถไฟหลวง ดร.ประจวบ บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกียรติ และจรัล ส่วนธิดาได้แก่ หม่อมลินจง เป็นหม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และลำจวน เป็นนางพระกำนัลในรัชกาลที่ 6

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระยาสุริยานุวัตร รัฐบุรุษนักเศรษฐศาสตร์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-09-05. สืบค้นเมื่อ 2009-12-01.
  2. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, คนโปรดในรัชกาลที่ 5 นั้น ตามที่ปรากฏทั้งในเอกสารต่างๆ และคำบอกเล่าต่อๆ กันมา มีอยู่หลายท่าน เก็บถาวร 2003-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sakulthai.com
  3. ข่าวราชการ
  4. ข่าวเปลี่ยนราชทูตสยาม
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งเสนาบดีกระทรวงวังและตั้งผู้แทนเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
  7. พระบรมราชโองการ แต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
  8. มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร เก็บถาวร 2009-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน bunnag.in.th
  9. พระราชทานสัญญาบัตร
  10. ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน
  11. เปลี่ยนราชทูตสยาม
  12. พระบรมราชโองการ ประกาศ เปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
  13. ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (หน้า 1021)
  14. "การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้าและถวายบังคมพระบรมรูป (หน้า 500)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2020-07-04.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]