รพินทรนาถ ฐากุร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก รพินทรนาถ ฐากูร)
รพินทรนาถ ฐากุร
ฐากุร ภาพถ่าย ป. 1925
ฐากุร ภาพถ่าย ป. 1925
ชื่อท้องถิ่น
রবীন্দ্রনাথ ঠাকুর
เกิดโรบินดโรนาถ ตากุร (Robindronath Thakur;ชื่อตามภาษาท้องถิ่น)
07 พฤษภาคม ค.ศ. 1861(1861-05-07) (วันที่ 25 เดือนวิศาข ปี 1268 ตามปฏิทินเบงกอล)
กัลกัตตา รัฐเบงกอล บริติชราช (ปัจจุบัน โกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย)
เสียชีวิต7 สิงหาคม ค.ศ. 1941(1941-08-07) (80 ปี)
กัลกัตตา รัฐเบงกอล บริติชราช (ปัจจุบัน โกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย)
ที่ฝังศพไม่มี (อัฐินำลอยอังคารในแม่น้ำคงคา)
นามปากกากวีคุรุ কবিগুরু, วิศวกวี বিশ্বকবি, ภานุสิงห์/ภาณุสิงโห ভানুসিংহ
อาชีพ
  • กวี
  • นักเขียนนิยาย
  • นักประพันธ์
  • ศิลปิน
  • นักปรัชญา
  • นักปฏิรูปสังคม
  • นักการศึกษา
  • นักภาษาศาสตร์
  • นักไวยากรณ์
ภาษา
สัญชาติบริติชอินเดีย
ช่วงเวลายุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเบงกอล
แนวร่วมในทางวรรณคดีคอนเท็กซ์ชวลมอเดิร์นนิสม์
ผลงานที่สำคัญ
รางวัลสำคัญรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
1913
คู่สมรสมรินาลินี เทวี
(สมรส 1883; 1902)
บุตร5 รวม รตินทรนาถ ฐากุร
ญาติตระกูลฐากุร

ลายมือชื่อ

รพินทรนาถ ฐากุร (เบงกอล: রবীন্দ্রনাথ ঠাকুর, อักษรโรมัน: Robindronath Ţhakur; 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 – 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484) มีสมัญญานามว่า "คุรุเทพ" เป็นนักปรัชญาพรหโมสมาช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกอล เขาเริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี[1] ครั้นอายุได้ 16 ปี ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานกวีนิพนธ์ภายใต้นามปากกา ภาณุสิงโห และเริ่มเขียนเรื่องสั้นกับบทละครในปี พ.ศ. 2420 ในช่วงปลายของชีวิต รพินทรนาถต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอังกฤษอย่างเปิดเผย และร่วมเคลื่อนไหวการประกาศเอกราชของประเทศอินเดีย ผลงานของเขาที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากงานกวีนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง ยังมีสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยวิศวภารตี

รพินทรนาถเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง ละครเพลง และเรียงความมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง และเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล[2]

ชีวิตเมื่อเยาว์วัยและการศึกษา[แก้]

รพินทรนาถ ฐากุร เกิดที่คฤหาสน์โชราสังโก นครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย[3] ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูลฐากุร ซึ่งเป็นตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดตระกูลหนึ่งในแคว้นเบงกอล และไม่ได้มั่งคั่งแต่เพียงทรัพย์สมบัติเท่านั้น หากยังเพียบพร้อมไปด้วยสติปัญญาอีกด้วย กล่าวคือ ผู้สืบสกุลฐากุรหลายคน ได้บำเพ็ญกรณียกิจนานาประการ โดยเฉพาะกิจการด้านวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นตระกูลที่ดื่มด่ำในวัฒนธรรมอินเดีย มีความเลื่อมใสต่อลัทธิที่ภักดีต่อพระวิษณุเจ้าเป็นพิเศษ

รพินทรนาถ กับ มฤณาลิณีเทวี

รพินทรนาถเป็นบุตรคนที่ 14 ในจำนวน 15 คนของ มหาฤๅษีเทเพนทรนาถ ฐากุร ซึ่งให้ความสนใจต่อการศึกษาของบุตรคนเล็กมาก เมื่อรพินทรนาถอายุได้ 11 ปี หลังจากประกอบพิธีสวมด้ายมงคลยัชโญปวีตตามแบบศาสนาพราหมณ์ให้แล้ว ท่านบิดาก็พาบุตรคนเล็กเดินธุดงค์ไปยังเมืองอมฤตสาร์ และเทือกเขาหิมาลัยเป็นเวลาหลายเดือน กล่าวได้ว่าทัศนะทางด้านศาสนาของรพินทรนาถนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากบิดามากทีเดียว รวมทั้งนิสัยที่ชอบเดินทาง นอกจากท่องเที่ยวในประเทศแล้ว ท่านยังได้ไปบรรยายที่สหรัฐอเมริกา 5 ครั้ง ยุโรป 5 ครั้ง ญี่ปุ่น 3 ครั้ง และที่จีน อเมริกาใต้ สหภาพโซเวียต และเอเชียอาคเนย์แห่งละครั้ง

ความสามารถในเชิงการเขียนของท่านเกิดขึ้นเมื่ออายุ 14 ปี รพินทรนาถเขียนเพลงปลุกใจ พาดพิงถึงงานมหกรรมเดลฮีเดอร์บาร์ โดยดำริของลอร์ด ลิททัน ด้วยท่าทีเย้ยหยัน เพราะเป็นความสนุกสนานท่ามกลางภาวะขาดแคลนของประเทศในขณะนั้น ความโด่งดังของรพินทรนาถทำให้ได้รับสมญานามว่า "เกอเธ่แห่งอินเดีย"

ปี พ.ศ. 2421 รพินทรนาถเข้าศึกษาที่โรงเรียนไบรตัน ประเทศอังกฤษ ด้วยความตั้งใจจะเป็นเนติบัณฑิต[4] ต่อมาจึงได้เข้าเรียนกฎหมายที่ University College London แต่เรียนไม่จบและกลับมายังเบงกอลในปี พ.ศ. 2423 วันที่ 9 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น รพินทรนาถสมรสกับ มฤณาลิณี เทวี (พ.ศ. 2416 – พ.ศ. 2443) มีบุตรด้วยกันทั้งสิ้น 5 คน เป็นบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 3 คน (ภายหลังเสียชีวิตไป 2 คน)[5] รพินทรนาถพาครอบครัวไปตั้งรกรากในเขตที่ดินมรดกของตระกูลที่ Shilaidaha ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบังกลาเทศ มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าพออยู่ได้อย่างสบาย ช่วงนี้ท่านตั้งอกตั้งใจรังสรรค์งานออกมาชิ้นแล้วชิ้นเล่า ทั้งบทละครที่ท่านร่วมแสดง หรือแม้กระทั่งบทกวีที่ใช้กล่อมเด็ก ผลงานประมาณครึ่งหนึ่งของ Galpaguchchha ท่านก็ได้เขียนขึ้นในช่วงเวลานี้ ภรรยาของท่านได้ถึงแก่กรรมก่อนหลังจากใช้ชีวิตร่วมกันได้ 19 ปี

ชีวิตในบั้นปลาย[แก้]

รพินทรนาถ (ซ้าย) พบกับมหาตมะคานธี ที่ศานตินิเกตัน

ในช่วงปลายของชีวิตเมื่ออายุ 70 ปี รพินทรนาถได้เริ่มเขียนภาพ ภายในเวลา 10 ปีท่านเขียนได้ถึง 3,000 ภาพ และได้นำผลงานเหล่านี้ไปแสดงตามที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย รวมทั้งที่ปารีสด้วย

ในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิต รพินทรนาถยังคงดำเนินกิจกรรมทางสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง ท่านได้เรียบเรียงงานเขียนต่าง ๆ ออกมาได้เป็นหนังสือ 15 เล่ม ในจำนวนนี้รวมถึงงานเขียน Punashcha (2475) Shes Saptak (2478) และ Patraput (2479) ท่านยังทดลองสร้างผลงานแนวใหม่ ๆ เช่นบทเพลงร้อยแก้ว และละครเต้นรำ เขียนนวนิยายเพิ่มอีกหลายเรื่องเช่น Dui Bon (2476) Malancha (2477) และ Char Adhyay (2477)[6] นอกจากนี้ รพินทรนาถยังให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ ซึ่งศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏแทรกอยู่ในบรรดางานกวีนิพนธ์ของท่านด้วย แสดงให้เห็นถึงความเคารพนบน้อมต่อธรรมชาติ

ฐากุรได้กลับมาถึงแก่กรรมที่คฤหาสน์หลังเดิมที่ตนเคยพำนักในวัยเยาว์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 รวมอายุ 80 ปี 3 เดือน[3]

ผลงาน[แก้]

ปกหน้าของหนังสือ คีตาญชลี พ.ศ. 2456

ผลงานของท่านนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากบทร้อยกรองกับบทละครซึ่งมีอยู่ถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบรรทัด ยังมีวรรณกรรมประเภท นวนิยาย เรื่องสั้น อัตชีวประวัติ บทวิจารณ์ และบทความ นานาชนิด

ปี พ.ศ. 2455 รพินทรนาถได้แปลบทกวีนิพนธ์ที่เขียนอุทิศให้แก่ภรรยาและบุตร 3 ใน 5 คนที่เสียชีวิตไปเป็นภาษาอังกฤษ แล้วรวบรวมนำมาพิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อว่า 'คีตาญชลี' อีก 1 ปีถัดมาขณะที่อายุได้ 52 ปี ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดนได้ประกาศจากกรุงสต็อกโฮล์ม ว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี คือ รพินทรนาถ ฐากุร จากบทประพันธ์คีตาญชลี ท่านเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ผลงานของรพินทรนาถ อันเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป อาทิ คีตาญชลี บทกวีจันทร์เสี้ยว บทละครเรื่องจิตรา เพลงชาติอินเดีย เรื่องสั้นราชากับรานี เรื่องสั้นนายไปรษณีย์ พระกรรณะกับนางกุนตี ฯลฯ

นอกจากนี้ท่านยังได้ตั้งโรงเรียนศานตินิเกตัน ซึ่งหมายถึงสถานที่แห่งความสงบ โดยสอนแบบครูสัมพันธ์กับศิษย์เหมือนพ่อกับลูก อีก 21 ปีต่อมา จึงได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อว่า 'วิศวภารตี' หมายถึง สถานอันเป็นที่พักพิงแห่งโลก[7]

แนวคิดทางการเมือง[แก้]

รพินทรนาถไม่เห็นด้วยกับจักรวรรดินิยมอังกฤษ เขาให้การสนับสนุนต่อแนวคิดกู้ชาติอินเดีย แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่เอ่ยออกมาโดยตรงและค่อนข้างระมัดระวังตัว การแสดงออกของเขาเริ่มด้วยการบอกว่า จักรวรรดิอังกฤษไม่ได้เป็นผู้ชั่วร้าย เพียงแต่เป็น "โรคเรื้อรังทางการเมืองต่อสังคมของเรา" เขากระตุ้นเตือนชาวอินเดียให้รับรู้ว่า "ไม่ควรมีคำถามกับการปฏิวัติอย่างมืดบอด แต่ควรมีการศึกษาที่มีเป้าหมาย"[8][9]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Tagore 1984, p. xii.
  2. O'Connell 2008.
  3. 3.0 3.1 "Rabindranath Tagore – Facts". Nobel Foundation.
  4. Ghosh 2011.
  5. Dutta & Robinson 1995, p. 373.
  6. "A 100 years ago, Rabindranath Tagore was awarded the Nobel Prize for poetry. But his novels are more enduring". The Hindu. สืบค้นเมื่อ 17 September 2019.
  7. Datta 2002, p. 2; Kripalani 2005a, pp. 6–8; Kripalani 2005b, pp. 2–3; Thompson 1926, p. 12.
  8. Tagore, Dutta & Robinson 1997, pp. 239–240.
  9. Tagore & Chakravarty 1961, p. 181.

บรรณานุกรม[แก้]

ปฐมภูมิ[แก้]

สรรนิพนธ์[แก้]

  • Tagore, Rabindranath (1984), Some Songs and Poems from Rabindranath Tagore, East-West Publications, ISBN 978-0-85692-055-4.
  • Tagore, Rabindranath (1961), Chakravarty, A. (บ.ก.), A Tagore Reader, Beacon Press (ตีพิมพ์ 1 June 1961), ISBN 978-0-8070-5971-5.
  • Tagore, Rabindranath (1997), Dutta, K.; Robinson, A. (บ.ก.), Selected Letters of Rabindranath Tagore, Cambridge University Press (ตีพิมพ์ 28 June 1997), ISBN 978-0-521-59018-1.

ทุติยภูมิ[แก้]

บทความ[แก้]

หนังสือ[แก้]

หนังสืออ่านประกอบ[แก้]

  • สาวิตรี เจริญพงศ์. (2557), สัมพันธ์สยามในนามภารต: บทบาทของรพินทรนาถ ฐากูร, สวามีสัตยานันทปุรี, และสุภาส จันทร โบส ในสายสัมพันธ์ไทย-อินเดีย, กรุงเทพฯ: โครงการภารตประทีป ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9786165517867.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

Wikiquote
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: Rabindranath Tagore