ศาลอาญาระหว่างประเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลอาญาระหว่างประเทศ

International Criminal Court  (อังกฤษ)
Cour pénale internationale  (ฝรั่งเศส)
المحكمة الجنائية الدولية  (อาหรับ)
国际刑事法院  (จีน)
Международный уголовный суд  (รัสเซีย)
Corte Penal Internacional  (สเปน)
ตราสัญลักษณ์ของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ตราสัญลักษณ์
ภาคีและผู้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม
  รัฐภาคี
  รัฐภาคีที่ถอนตัวออกไป
  ลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
  ลงนามแล้วถอนการลงนาม
  ไม่ได้เป็นภาคีและไม่ได้ลงนาม
ที่ทำการกรุงเฮก, ประเทศเนเธอร์แลนด์
ภาษาในการทำงานอังกฤษ
ฝรั่งเศส
ภาษาราชการ[1]
6 ภาษา
  • อาหรับ
  • จีน
  • อังกฤษ
  • ฝรั่งเศส
  • รัสเซีย
  • สเปน
รัฐสมาชิก123
ผู้นำ
• ประธานศาล
Piotr Hofmański
• รองประธาน
Luz del Carmen Ibáñez Carranza
• รองประธานที่สอง
Antoine Kesia-Mbe Mindua
• อัยการ
Karim Ahmad Khan
• นายทะเบียน
Peter Lewis
ก่อตั้ง
• ตกลงรับธรรมนูญกรุงโรม
17 กรกฎาคม ค.ศ. 1998
• ธรรมนูญกรุงโรมใช้บังคับ
1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002
เว็บไซต์
www.icc-cpi.int

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Criminal Court; ICC หรือ ICCt) เป็นศาลระหว่างประเทศซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 ฐาน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, อาชญากรรมสงคราม, และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ก่อตั้งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นส่วนเสริมของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ จึงมีเขตอำนาจเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น เช่น เมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแล้ว หรือเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือรัฐหนึ่ง ๆ เสนอคดีมาให้พิจารณา ศาลนี้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 อันเป็นวันที่ธรรมนูญกรุงโรมเริ่มใช้บังคับ ธรรมนูญดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีซึ่งวางรากฐานและกำหนดการบริหารจัดการของศาล รัฐที่เข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญจะนับเป็นรัฐสมาชิกของศาล ปัจจุบัน มีรัฐภาคี 122 รัฐ

องค์กรหลักของศาลมี 4 องค์กร คือ คณะประธาน, แผนกตุลาการ, สำนักงานอัยการ, และสำนักงานทะเบียน ประธานศาลเป็นตุลาการที่ได้รับเลือกมาจากตุลาการคนอื่นในแผนกตุลาการ สำนักงานอัยการมีอัยการเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่สืบสวนคดีและส่งฟ้องต่อแผนกตุลาการ ส่วนสำนักงานทะเบียนมีนายทะเบียนเป็นหัวหน้า รับผิดชอบงานธุรการทั้งปวงของศาล ซึ่งรวมถึง การบริหารกองบัญชาการของศาล หน่วยขัง และสำนักงานทนายจำเลย

ปัจจุบัน สำนักงานอัยการได้เปิดการสืบสวนแล้ว 10 คดี และกำลังไต่สวนเบื้องต้นอีก 11 คดี มีบุคคล 44 คน ถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งรวมถึง โจเซฟ โคนี หัวหน้ากบฏยูกันดา, อุมัร อัลบะชีร ประธานาธิบดีซูดาน, อูฮูรู เกนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา, มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย, โลร็อง บากโบ ประธานาธิบดีโกตดิวัวร์, และ Jean-Pierre Bemba รองประธานาธิบดีคองโก

โครงสร้าง[แก้]

ภาพรวม[แก้]

ผู้บริหารศาล คือ สมัชชารัฐภาคีซึ่งประกอบด้วยรัฐทั้งหมดที่เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม สมัชชานี้คัดเลือกบุคลากรศาล อนุมัติงบประมาณศาล และตกลงรับการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญกรุงโรม[2]

ส่วนศาลนั้นแบ่งองค์กรเป็น 4 องค์กร คือ คณะประธาน, แผนกตุลาการ, สำนักงานอัยการ, และสำนักงานทะเบียน[3]

สมัชชารัฐภาคี[แก้]

สมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Assembly of the States Parties to the Rome Statute of the International Criminal Court) เป็นองค์กรด้านบริหารและนิติบัญญัติของศาล ประกอบด้วยผู้แทนหนึ่งคนจากรัฐภาคีแต่ละรัฐ[4]

สมัชชาจะเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการและอัยการ กำหนดงบประมาณของศาล ตกลงรับบทกฎหมายสำคัญ ๆ เช่น ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณาและพยานหลักฐาน (Rules of Procedure and Evidence) และกำกับดูแลองค์กรอื่น ๆ ของศาล[2][4] ข้อ 46 ของธรรมนูญกรุงโรมยังให้อำนาจสมัชชาถอดถอนตุลาการหรืออัยการได้ ถ้าปรากฏว่า ผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ของตนอย่างร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ตามธรรมนูญกรุงโรมได้[5]

แต่สมัชชาก็ดี หรือรัฐภาคีก็ดี ไม่อาจจะสอดแทรกการทำหน้าที่ทางตุลาการของศาล การวินิจฉัยอรรถคดีย่อมเป็นกิจของศา[6]

ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 สมัชชาได้กำหนดให้มีการประชุมทบทวนธรรมนูญกรุงโรมขึ้น ณ เมืองกัมปาลา ประเทศอูกันดา ราว ๆ ต้น ค.ศ. 2010[6]

คณะประธาน[แก้]

คณะประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (Presidency of the International Criminal Court) เป็นองค์กรด้านบริหารศาล แต่ไม่รวมถึงการบริหารสำนักงานอัยการของศาล[7] ประกอบด้วย ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (President of the International Criminal Court) และรองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ คนที่ 1 และคนที่ 2 (First and Second Vice-Presidents of the International Criminal Court) ทั้ง 3 คนนี้ได้รับเลือกตั้งโดยตุลาการที่เหลือ มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี[8]

แผนกตุลาการ[แก้]

ตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศ (judges of the International Criminal Court) มีทั้งหมด 18 คน ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งแบ่งกันเป็น 3 แผนก (Division) คือ แผนกพิจารณาเบื้องต้น (Pre-Trial Division), แผนกพิจารณา (Trial Division), และแผนกอุทธรณ์ (Appeals Division)[9]

เป็นอำนาจของสมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมในอันที่จะเลือกตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศ ตุลาการแต่ละคนอยู่ในตำแหน่งเก้าปี และได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น[9] คุณสมบัติของผู้จะเป็นตุลาการ คือ ต้องมีสัญชาติของรัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม และในบรรดาตุลาการทั้งสิบแปดคนนั้น ห้ามมีสัญชาติซ้ำกันเลย นอกจากนี้ ข้อ 36 แห่งธรรมนูญกรุงโรมยังกำหนดว่า ตุลาการต้องเป็น "บุคคลผู้พร้อมด้วยจริยลักษณะอันสูงส่ง ความเป็นกลาง และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับแต่งตั้งข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ในรัฐของตน"[10]

ข้อ 41 แห่งธรรมนูญกรุงโรมยังว่า อัยการ หรือบุคคลที่กำลังถูกสืบสวนหรือฟ้องคดี จะร้องขอคัดค้านตุลาการคนใดก็ได้ "ในกรณีที่มีเหตุควรกังขาถึงความเป็นกลางของตุลาการผู้นั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด" [11] คำร้องขอคัดค้านมิให้ตุลาการคนใดเข้าร่วมทำคดีใด ๆ นั้น จะได้รับการวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากเด็ดขาดของตุลาการคนอื่น ๆ ที่เหลือ[11]

อนึ่ง ตุลาการอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ถ้า "ปรากฏว่าตุลาการผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ร้ายแรง" หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้[5] การจะสั่งให้ตุลาการคนใดพ้นจากตำแหน่งนั้น ต้องได้รับเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของตุลาการคนอื่น ๆ ที่เหลือ และเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของรัฐภาคี[5]

สำนักงานอัยการ[แก้]

สำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Office of the Prosecutor of the International Criminal Court) รับผิดชอบงานสืบสวนและงานฟ้องคดี[12] มีผู้บังคับบัญชา คือ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Prosecutor of the International Criminal Court) มีรองอัยการ (Deputy Prosecutor) 2 คนคอยแบ่งเบาภาระหน้าที่ แต่ละคนดำรงตำแหน่ง 9 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว[3]

ธรรมนูญกรุงโรมกำหนดให้สำนักงานอัยการมีอิสระในการดำเนินงานของตน[13] เพราะฉะนั้น พนักงานอัยการทุกคนของสำนักงานอัยการจะไม่เสาะหาหรือรับฟังคำสั่งของผู้ใดอีก ไม่ว่าเป็นรัฐ องค์การระหว่างประเทศ องค์การระหว่างรัฐบาล หรือบุคคลใดก็ดี[12]

สำนักงานอัยการนั้นจะเริ่มสืบสวน เมื่อมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้[12]

  • เมื่อรัฐภาคีหนึ่งยื่นเรื่องราวสถานการณ์ใดมา
  • เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นเรื่องราวสถานการณ์ใดมา เพื่อเตือนให้ทราบถึงภัยอันคุกคามสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
  • เมื่อองค์คณะตุลาการชั้นไต่สวนมูลฟ้องอนุญาตให้สืบสวน หลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับข้อมูลข่าวสารมาจากแหล่งอื่น ๆ เช่น มีบุคคลหรือหน่วยงานเอกชนแจ้งมา

บุคคลใดที่กำลังถูกสืบสวนหรือฟ้องคดีจะร้องขอคัดค้านพนักงานอัยการคนใด ๆ ไม่ให้ทำคดีของตนก็ได้ ถ้า "ปรากฏว่ามีเหตุสมควรกังขาถึงความเป็นกลางของอัยการ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด"[13] คำร้องคัดค้านพนักงานอัยการเช่นนี้ จะได้รับการวินิจฉัยจากแผนกอุทธรณ์ของศาล[13] พนักงานอัยการอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดของสมัชชารัฐภาคีก็ได้ ถ้าปรากฏว่า พนักงานอัยการผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้[5]

สหรัฐวิพากษ์วิจารณ์ว่า ธรรมนูญกรุงโรมไม่ได้วางระบบให้เพียงพอสำหรับคานอำนาจและตรวจสอบกันระหว่างพนักงานอัยการและตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศ และยังปราศจากระบบป้องกันมิให้มีการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือใช้อำนาจไม่โดยมิชอบประการอื่นด้วย[14] เฮนรี คิสซิงเงอร์ (Henry Kissinger) ว่า ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลนั้นอ่อนถึงขนาดที่ในทางปฏิบัติแล้วอัยการสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างไม่จำกัด[15]

อัยการคนปัจจุบัน คือ ลูอีส มอเรโน โอคัมโพ (Luis Moreno Ocampo) ชาวอาร์เจนตินา ซึ่งสมัชชารัฐภาคีเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 2003 และดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ปีนั้นเป็นต้นมา[16]

สำนักงานทะเบียน[แก้]

สำนักงานทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ (Registry of the International Criminal Court) รับผิดชอบงานธุรการและงานบริการของศาล[17] งานเหล่านี้รวมถึง งานให้ความช่วยเหลือทางคดี การบริหารจัดการของศาล กิจการเกี่ยวกับผู้เสียหายและพยานบุคคล งานจัดหาทนายฝ่ายจำเลย งานของหน่วยขัง และงานทั่วไปตามจำเป็นสำหรับธุรการ เช่น งานทะเบียน งานแปล งานอาคารสถานที่ งานบุคลาการ งานงบประมาณ ฯลฯ[17]

สำนักทะเบียนนั้นมีผู้บังคับบัญชา คือ นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ (Registrar of the International Criminal Court) ซึ่งคณะตุลาการเลือกมาให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี นายทะเบียนคนปัจจุบัน คือ ซิลวานา อาร์เบีย (Silvana Arbia) ผู้ได้รับเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009

สถานที่ของศาล[แก้]

กองบัญชาการ[แก้]

ที่ทำการของศาลอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาที่อื่นก็ได้[18]

นิติสัมพันธ์ระหว่างศาลกับประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นไปตามความตกลงเรื่องกองบัญชาการ เรียก ความตกลงเรื่องกองบัญชาการระหว่างศาลอาญาระหว่างประเทศกับรัฐที่ตั้ง (Headquarter Agreement between the International Criminal Court and the Host State) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2008[19]

ศาลย้ายเข้าที่ทำการถาวรเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2015 ตั้งอยู่ ณ Oude Waalsdorperweg 10 ในกรุงเฮก[20] อันเป็นอาณาบริเวณที่เรียก Alexanderkazerne ซึ่งเดิมเป็นฐานทัพทหาร อยู่ใกล้กับเนินทรายแถบเหนือของเมือง เขตเดียวกับองค์การระหว่างประเทศแห่งอื่น ๆ เช่น วังสันติของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ, สำนักประสานงานบังคับใช้กฎหมายสหภาพยุโรป (ยูโรโพล), คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย, องค์การห้ามอาวุธเคมี, และสภาโลก[21]

อ้างอิง[แก้]

  1. "The International Criminal Court: An Introduction". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2012. The official languages of the ICC are Arabic, Chinese, English, French, Russian and Spanish and the working languages are currently English and French
  2. 2.0 2.1 International Criminal Court. "Assembly of States Parties". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2008.
  3. 3.0 3.1 International Criminal Court. Structure of the Court เก็บถาวร 25 พฤษภาคม 2012 ที่ archive.today, ICC website. Retrieved 16 June 2012
  4. 4.0 4.1 Article 112 of the Rome Statute. Retrieved 18 October 2013.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ดู ข้อ 46 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม.
  6. 6.0 6.1 Coalition for the International Criminal Court. "Assembly of States Parties". สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  7. International Criminal Court. "The Presidency". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-18. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  8. ดู ข้อ 38 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม.
  9. 9.0 9.1 International Criminal Court (2009). "Chambers". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-18. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  10. ดู ข้อ 36 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม.
  11. 11.0 11.1 ดู ข้อ 41 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม.
  12. 12.0 12.1 12.2 International Criminal Court (2009). "Office of the Prosecutor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-19. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  13. 13.0 13.1 13.2 ดู ข้อ 42 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม.
  14. US Department of State (2003-06-30). "Frequently Asked Questions About the U.S. Government's Policy Regarding the International Criminal Court (ICC)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-09. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  15. Henry A. Kissinger. “The Pitfalls of Universal Jurisdiction”. Foreign Affairs, July/August 2001, p. 95. Accessed 31 December 2006.
  16. International Criminal Court (2003-04-24). "Election of the Prosecutor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-20. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  17. 17.0 17.1 International Criminal Court. "The Registry". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-16. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  18. Article 3 of the Rome Statute. Retrieved 18 October 2013.
  19. International Criminal Court (25 มิถุนายน 2008). "Headquarter Agreement between the International Criminal Court and the Host State" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 มกราคม 2009. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2008.
  20. "ICC Permanent Premises". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-23. สืบค้นเมื่อ 22 February 2016.
  21. "The Hague - International Zone". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 5 May 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

เว็บไซต์ทางการ
เว็บไซต์องค์กรเอกชน