หลินปิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลินปิง
หลินปิง ถ่ายเมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552
สปีชีส์Ailuropoda melanoleuca
สายพันธุ์แพนด้ายักษ์
เพศเมีย
เกิด27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 (14 ปี)
สวนสัตว์เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2552–2556
เป็นที่รู้จักสำหรับทูตสันถวไมตรีไทย-จีน
เจ้าขององค์การแพนด้าแห่งประเทศจีน
พ่อแม่ช่วงช่วง (พ่อ)
หลินฮุ่ย (แม่)
ทายาท2 ตัว

หลินปิง (จีน: 林冰; อังกฤษ: Lin Bing) เป็นแพนด้ายักษ์เพศเมียในสวนสัตว์เชียงใหม่ เกิดเมื่อวันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 จากการผสมเทียม ระหว่างช่วงช่วงและหลินฮุ่ย [1][2] นับเป็นแพนด้าตัวแรกของโลกที่เกิดในประเทศเขตศูนย์สูตร ในเดือนนอกฤดูผสมพันธุ์ของหมีแพนด้า[3]

หลินปิง เป็นชื่อที่ได้รับการลงคะแนนเป็นอันดับ 1 โดยคนไทย ทางจดหมายและไปรษณียบัตร ถึง 13 ล้านฉบับ จาก 4 ชื่อ (อันดับ 2 “ขวัญไทย” 3.5 ล้านฉบับ อันดับ 3 “ไทจีน” 2.5 ล้านฉบับ อันดับ 4 “หญิงหญิง” 2 ล้านฉบับ)[4]

ประวัติ[แก้]

ความพยายามของสัตวแพทย์ไทย[แก้]

หลินฮุ่ยและช่วงช่วง สวนสัตว์เชียงใหม่

หลังจากที่ประเทศไทยได้รับช่วงช่วงและหลินฮุ่ยในฐานะทูตสันถวไมตรีระหว่างไทยและจีน มาอยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2546 องค์กรได้ทำการดูและคู่หมีแพนด้าให้มีคุณภาพที่ดีเป็นเวลา 3 ปี ทางสวนสัตว์ฯ เริ่มพยายามให้คู่แพนด้าได้มีโอกาศผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติด้วยการทำให้สิ่งแวดล้อมภายในบริเวณที่เลี้ยงมีบรรยากาศเหมือนธรรมชาติ บริเวณด้านหลังสามารถแยกหมีให้อยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ได้ ส่วนด้านจัดแสดงด้านหน้า แบ่งพื้นที่ให้ทั้งสองคิดถึงกันมากที่สุด หลินฮุ่ยแสดงอาการเป็นสัดครั้งแรกราววันที่ 16-19 มกราคม พ.ศ. 2549 โดยส่งเสียงร้องคล้ายเสียงแพะ เดินวนกระสับกระส่าย ป้ายกลิ่นตามที่ต่าง ๆ ยกหางและเดินถอยหลังเข้าหาช่วงช่วง แต่ช่วงช่วงแสดงพฤติกรรมคล้ายการขึ้นผสมพันธุ์เท่านั้น[5] แต่ก็ล้มเหลว ต้องรอลุ้นปีถัดไป ต่อมาปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 หลินฮุ่ยแสดงอาการเป็นสัดครั้งที่ 2 ทางทีมงานหากลยุทธ์หลากหลาย อย่างให้ช่วงช่วงดูวิดีโอโป๊เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมสืบพันธุ์ ตามคำแนะนำของประเทศจีนและอื่น ๆ หรือการกั้นคอกแยกเพื่อเลียนแบบพฤติกรรมทางธรรมชาติที่มักแยกกันอยู่ตามลำพัง และเปิดให้ทั้งคู่อยู่ด้วยกันเฉพาะช่วงที่หลินฮุ่ยเป็นสัด แต่ผลก็ไม่เป็นที่น่าพอใจ

เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 มีการรวมตัวคณะทำงานเฉพาะกิจ ที่มีทีมงานจากหลายฝ่ายทั้งทีมงานของสวนสัตว์เชียงใหม่ ทีมจากส่วนวิชาการ องค์การสวนสัตว์ ทีมงานวิจัยของโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า ทีมงานคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อมูลการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลจากห้องปฏิบัติการฮอร์โมน ที่ทำงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต่อมาวันที่ 1 เมษายน หลินฮุ่ยตกไข่ ทีมงานปล่อยให้ช่วงช่วงเข้าผสมกับหลินฮุ่ยแต่ไม่สำเร็จ จึงดำเนินการผสมเทียมในวันถัดมา ช่วงช่วงถูกวางสลบในไม่กี่ชั่วโมง การผสมเทียมครั้งแรกนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาช่วยเหลือทีมงาน[6] แต่น่าเสียดายว่า หลินฮุ่ยเกิดภาวะตั้งท้องเทียม ที่เป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในสัตว์หลายชนิด

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 หลังจากนั้นเริ่มเข้าฤดูผสมพันธุ์ของหลินฮุ่ยอีกครั้ง ทั้งสิ่งเปลี่ยนแปลงเรื่องระดับฮอร์โมนและพฤติกรรม ทางทีมงานร่วม 30 ชีวิตวางแผนการทำงานแบบละเอียด ทั้งแผนปฏิบัติการรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ตั้งแต่ผสมพันธุ์จนถึงคลอด หลังจากพิจารณาระดับฮอร์โมนที่ขึ้นถึงสูงสุดและเริ่มลดระดับลงอย่าฮวบฮาบ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลินฮุ่นมีไข่ตกจากรังไข่แน่นอน ทางทีมงานเริ่มวางยาสลบช่วงช่วง ได้น้ำเชื้อคุณภาพเยี่ยมมากพอเพียงสำหรับการผสมเทียมถึง 2 ครั้ง จากนั้นสู่กระบวนการพาตัวอสุจิของช่วงช่วงไปเจอกับไข่ของหลินฮุ่ยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 จากนั้นเริ่มสังเกตพฤติกรรม การตรวจฮอร์โมนจากฉี่ทุกวัน หากตั้งท้องฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่รังไข่จะผลิตออกมา สองเดือนหลังวันผสมเทียม พบว่าพฤติกรรมหลินฮุ่ยเปลี่ยนไป กินอาหารมากขึ้น ท้องและเต้านมขยายใหญ่ นอนเก่งกว่าเดิม รวมทั้งผลตรวจฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ[7]

เกิด[แก้]

ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีน กำลังตรวจสุขภาพให้หลินปิง

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 หลังจากเจ้าหน้าที่สังเกตพบพฤติกรรมผิดปรกติของหลินฮุ่ยที่แสดงอาการกระวนกระวาย เดินไปมา เลียบริเวณอวัยวะเพศถี่มากขึ้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 26 จึงติดต่อไปที่ศูนย์วิจัยแพนด้า ประเทศจีน ปรึกษาจากผู้รู้ จึงได้รับคำตอบว่า หลินฮุ่ยกำลังจะคลอด คำยืนยันทำให้ทีมงานตื่นเต้นและกระวนกระวายอย่างมาก แพนด้าน้อยคลอดออกมา โดยถูกบันทึกภาพด้วยกล้องวิดีโอของทีมงานสวนสัตว์ฯ หลังจากอุ้มท้อง 97 วัน มีน้ำหนักแรกเกิด 235 กรัม[8]

การตั้งชื่อ[แก้]

มีการจัดประกวดตั้งชื่อแพนด้าน้อย โดยคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ฯจะเป็นผู้รวบรวมชื่อคัดเลือกให้เหลือ เพียง 4 ชื่อ จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ประชาชนลงคะแนนผ่านทางไปรษณียบัตร โดยหลินปิง เป็นชื่อที่ได้รับการลงคะแนนเป็นอันดับ 1 โดยคนไทย ทางจดหมายและไปรษณียบัตร ถึง 13 ล้านฉบับ จาก 4 ชื่อ (อันดับ 2 “ขวัญไทย” 3.5 ล้านฉบับ อันดับ 3 “ไทจีน” 2.5 ล้านฉบับ อันดับ 4 “หญิงหญิง” 2 ล้านฉบับ) โดยหลินปิง มีความหมายว่า ป่าเมืองหนาว หรือป่าแห่งสายน้ำปิง

ส่งกลับจีนเพื่อไปหาคู่[แก้]

28 กันยายน พ.ศ. 2556 ได้มีการส่งหลินปิงไปที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองเฉิงตู ประเทศจีน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้จับคู่ผสมพันธุ์กับแพนด้าหนุ่ม[9]

ที่สุดในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18.33 น. หลินปิงก็ได้ตกลูกแฝดออกมาคู่หนึ่ง เป็นตัวเมียทั้งคู่ น้ำหนักประมาณ 200 กรัม หลังจับคู่ผสมพันธุ์กับแพนด้าหนุ่มหลายตัว และตั้งท้องนาน 117 วัน[10]

ในปี 2560 หลินปิง ย้ายไปอยู่หน่วยพิทักษ์เสินซู่ผิง ของศูนย์อนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติว่อหลง และได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าแฝดอีกคู่ โดยตัวแรก นามว่า ไหไห่ ได้กำเนิดในช่วงเช้า จากนั้นในตอนบ่ายก็ได้ให้กำเนิดแพนด้าเพศผู้ นามว่า เหลาเหลา จนถึงปัจจุบัน หลินปิงกลายเป็นคุณแม่ลูก 7 เรียบร้อยแล้ว[11]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

ช้างจาก วังช้างอยุธยา แล เพนียด ถูกทาสีจนมีหน้าตาละม้ายคล้ายหมีแพนด้า

นับตั้งแต่หลินปิงเกิดมา สื่อต่าง ๆ ทุกสื่อ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างลงหน้าหนึ่ง ออกรายการโทรทัศน์ทุกช่อง มีการถ่ายทอดสดในลักษณะเรียลลิตี้ผ่านเครือข่ายโทรทัศน์วงจรปิดในสวนสัตว์และอินเทอร์เน็ต ยังส่งผลให้การท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังสถานการณ์การเมือง รายรับของสวนสัตว์เชียงใหม่หลังจากหลินปิงเกิด คาดว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น รวมมีรายได้ปีละ 208 ล้านบาท[12]

26 มิถุนายน พ.ศ. 2552 มีช้างพลาย 3 ตัวจากวังช้างอยุธยา แล เพนียด ถูกทาสีจนมีหน้าตาละม้ายคล้ายหมีแพนด้า ออกเดินเรียกร้องความสนใจจากประชาชน จนกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น "ผลพลอยได้ครั้งนี้คือ พูดในสิ่งที่คนไทยบางคนคิดอยู่ในใจออกมาดัง ๆ"[12] หรือแม้แต่สุนัขที่มีสีขนคล้ายหมีแพนด้า ของแม่ค้าขายข้าวแกงจังหวัดเชียงราย ยังถูกสื่อมวลชนนำเสนอข่าว ก่อนปิดรับไปรษณียบัตรทายชื่อแพนด้าน้อย

ต่อมามีรายการเรียลลิตี้ที่นำเสนอชีวิตครอบครัวหมีแพนด้าทั้ง “หลินปิง” ทางสื่อโทรทัศน์ในช่องทรูวิชั่นส์ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่องแพนด้าแชนแนล เริ่มออกฉายวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552[13] และยุติการออกอากาศไปในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ด้วยสาเหตุทางงบประมาณและสิ้นสุดสัญญากับทางทรูวิชั่นส์ รวมระยะเวลาออกอากาศนานถึง 3 ปีเต็ม[14]

อ้างอิง[แก้]

  1. Casey, Michael (May 27, 2009). "Thai zoo surprised by panda cub birth". Associated Press.
  2. Casey, Michael (May 28, 2009). "China experts say Thailand's panda cub healthy". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-14. สืบค้นเมื่อ 2009-08-23.
  3. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 12
  4. วันนี้ที่รอคอย แพนด้าน้อยได้ชื่อ “หลินปิง” [ลิงก์เสีย]
  5. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 136
  6. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 137
  7. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 144
  8. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, หน้า 146
  9. แห่ส่ง"หลินปิง"ไปจีนเลือกคู่[ลิงก์เสีย]
  10. หลินปิงคลอดแฝดเพศเมีย ลุ้นแม่หลินฮุ่ยป่องอีกรอบ!
  11. S, Danita (2024-04-10). "ชีวิตปัจจุบัน 'หลินปิง' แพนด้าขวัญใจชาวไทย หลังถูกส่งกลับจีน ตอนนี้เป็นแม่ลูก 7". Thaiger ข่าวไทย.
  12. 12.0 12.1 สุเจน กรรพฤทธิ์, "ปรากฏการณ์แพนด้าน้อย", นิตยสารสารคดี, สิงหาคม 2552.
  13. "สวนสัตว์เชียงใหม่จับมือ "ทรู" ถ่ายสดชีวิต "หลินปิง" 24 ชม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2009-10-27.
  14. "สวนสัตว์แจงเหตุยกเลิกถ่ายทอดแพนด้าหลินปิงเรียลลิตี้เนื่องจากหมดสัญญากับทรูวิชั่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-09. สืบค้นเมื่อ 2015-07-28.

บรรณานุกรม[แก้]

  • บริพัตร ศิริอรุณรัตน์, "แพนด้าน้อย หลินปิง", นิตยสารสารคดี, สิงหาคม 2552.