เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลังยัคมินส์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ
เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจในชุดข้าราชการไทย
เกิด31 มกราคม ค.ศ. 1835(1835-01-31)
เกนต์, เบลเยี่ยม
เสียชีวิต9 มกราคม ค.ศ. 1902(1902-01-09) (66 ปี)
บรัสเซลส์, เบลเยี่ยม
สัญชาติเบลเยียม
ชื่ออื่น"กุสตาฟว์ อ็องรี อ็องฌ์ อีปอลิต รอแล็ง-ฌักแม็ง", "โรลังยัคมินส์"
อาชีพนักกฎหมาย, ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ, รัฐมนตรีมหาดไทยของประเทศเบลเยี่ยม, ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีชื่อเสียงจากที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาลสยาม, ผู้ก่อตั้ง Institut de Droit International

เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (31 มกราคม พ.ศ. 2378 – 9 มกราคม พ.ศ. 2445) หรือชื่อจริงว่า กุสตาฟว์ อ็องรี อ็องฌ์ อีปอลิต รอแล็ง-ฌักแม็ง (Gustave Henri Ange Hippolyte Rolin-Jacquemyns) หรือนิยมเรียกว่า โรลังยัคมินส์[ก] เป็นนักการทูตและนักการเมืองชาวเบลเยี่ยม ได้เข้ารับราชการในราชอาณาจักรสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัว และนับเป็นผู้มีคุณูปการต่อการพัฒนาระบบศาลยุติธรรมของสยาม[1]

ประวัติ[แก้]

โรลังยัคมินส์เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2378 จบการศึกษาสาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกนต์

เขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ประเทศเบลเยี่ยม หลังจากนั้นได้เดินทางเข้ามารับราชการในประเทศสยาม ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435[2] ในฐานะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป 28 พฤศจิกายน ศกนั้น จึงได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำกระทรวงการต่างประเทศ[3] เนื่องจากขณะนั้นประเทศไทย กำลังมีข้อพิพาทกับฝรั่งเศสในเรื่องดินแดนเมืองขึ้น จึงว่าจ้างโรลังยัคมินส์เข้ามาช่วยราชการแก้ปัญหาสำคัญ ที่รัฐบาลไทยจะต้องปรับปรุงแก้ไข 3 ประการ คือ

  1. ปรับปรุงการศาลยุติธรรมให้เป็นที่เชื่อถือของต่างประเทศ เพราะขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศส เริ่มเข้ามาตั้งศาลกงสุลในประเทศไทย และไม่ยอมรับรองการอยู่ใต้กฎหมายไทย เพราะถือว่ากฎหมายไทยยังไม่มีระเบียบแบบแผนรัดกุมที่ดีพอ
  2. ปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งแยกกระทรวง ทบวง กรม มีการจัดตั้งสภารัฐมนตรี ขึ้นเป็นครั้งแรก ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) นักเรียนไทย คนแรกที่กลับจากอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี มีตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ แปลเอกสารภาษาอังกฤษ เพื่อจะใช้เป็นหลักในการปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง โดยมีกรมพระยาเทววงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเป็น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวที่พระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้แปลและได้ร่างเสร็จเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2432 เรียกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นนี้ว่า “พระราชประเพณี” ได้มีการจัดตั้งสภารัฐมนตรี และได้ประกาศตั้งเสนาบดี 12 กระทรวงใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435
  3. ปรับปรุงปัญหาด้านการต่างประเทศ หลังจากที่ประเทศไทยได้เซ็นสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 4 ประเทศยุโรปก็ได้ส่งกงสุลใหญ่เข้ามาดูแลด้านการค้า การปกครองคนของตนอย่างเป็นเอกเทศไม่ยอมให้คนในบังคับ ของตนมาขึ้นศาลไทย ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกงสุลใหญ่หรือทูตไทยไปประจำในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น ทำให้เกิดปัญหา ความขัดแย้ง ความไม่พอใจระหว่างรัฐบาลไทยกับกงสุลของประเทศต่าง ๆ เหล่านั้นบ่อย ๆ เกิดข้อพิพาทบาดหมางกัน พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องส่งทูตพิเศษออกไปติดต่อกับรัฐบาลในทวีปยุโรปเสมอ ๆ จึงจำเป็นต้องจ้างโรลังยัคมินส์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นงานหนักในฐานะที่เป็นอัครราชทูตไทย ผู้มีอำนาจเต็มประจำ กระทรวงการต่างประเทศ บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของท่าน คือการที่ช่วยรัฐบาลไทยเจรจาและทำความเข้าใจกับรัฐบาลฝรั่งเศส ในช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งประเทศไทยถูกฝรั่งเศสยึดดินแดน ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบต่างชาติน้อยที่สุด และช่วยรักษาเอกราชของประเทศไทยไว้ได้อย่างปลอดภัย ด้วยการดำเนินรัฐประศาสโนบายในทางที่ควรจนรอดพ้นจากการสูญเสีย ประเทศมาได้

คุณความดีและความสามารถหลายด้านของโรลังยัคมินส์ที่มีต่อประเทศไทย วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้โรลังยัคมินส์เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา สยามานุกูลกิจ สกลนิติธรรมศาสตราจารย์ มหิบาลมหาสวาภักดิ์ ปรมัคราชมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป ถือศักดินา 10000[4] นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งฝรั่งเป็นเจ้าพระยาเทียบชั้นเสนาบดี

ส่วนในด้านการศึกษาของเจ้าฟ้าชายผู้เป็นรัชทายาท และพระราชโอรสทุกพระองค์ เจ้าพระยาอภัยราชาได้ถวายความเห็นว่าควรจะศึกษาวิชาใดในต่างประเทศ และควรจะเรียนในประเทศใด เพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองและเป็นการเชื่อมโยงสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศต่าง ๆ ด้วย และยังถวายคำแนะนำ ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2441 ภายหลังที่มีกรณีพิพาท กับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2436 เพื่อบรรเทาความตึงเครียดในทางการเมือง และเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ รู้จักประเทศไทยและหันมาสนับสนุน ประเทศไทยในทางการเมือง เพื่อเป็นการถ่วงดุลกับอิทธิพลของฝรั่งเศสในขณะนั้น

ในการเสด็จเยือนยุโรปเป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตลอดเวลาที่ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศ เป็นเวลานาน 9 เดือน และได้แต่งตั้งองค์ที่ปรึกษาราชการ แผ่นดินขึ้น 5 นาย เพื่อถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในจำนวนบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งมี เจ้าพระยาอภัยราชา ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้อยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไปด้วย

เจ้าพระยาอภัยราชามีส่วนช่วยสร้างและนำความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำหน้าที่ติดต่อกับเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ช่วยเร่งรัดงานให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว มีระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น ภายหลังเจ้าพระยาอภัยราชาได้เดินทางกลับไปยังประเทศเบลเยี่ยม และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม ปีฉลู พ.ศ. 2444 อายุได้ 66 ปี[5]

เครื่องราชอิศริยาภรณ์[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

หมายเหตุ

ในอักษรไทยแต่ก่อนมีเขียนหลายอย่าง เช่น

  • กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "โรลังยัคมินส" (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2503). นิทานโบราณคดี (PDF) (10 ed.). พระนคร: เขษมบรรณกิจ. p. 134.[ลิงก์เสีย])
  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ว่า "รอลินแยกกระมินซ์" (กัลยา จุลนวล (2550). เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลังยัคมินส์) ที่ปรึกษาทั่วไป ในสมัยรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. p. 45.)
  • ราชกิจจานุเบกษาว่า "คุสตาฟโรลินยัคมินส์"[6]
อ้างอิง
  1. ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความเนติบัณฑิตยสภา เรื่อง สร้างรูปจำหลักกรมหลวงราชบุรีฯ กับเจ้าพระยาอภัยราชา (โรแลง ยัคแมงส์), เล่ม ๔๓, ตอน ๐ ง, ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๑๐๓๗-๘
  2. ราชกิจจานุเบกษา. มองสิเออโรลินยัคคะมังเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท, เล่ม ๙, ตอน ๒๙, ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๕, หน้า ๒๓๙
  3. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ มิสเตอร์ยัคคะมินส์, เล่ม ๙, ตอน ๓๖, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๕, หน้า ๓๐๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานสัญญาบัตร, เล่ม ๑๓, ตอน ๓๔, ๒๒ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๕, หน้า ๔๑๘
  5. ข่าวอสัญญกรรม
  6. 6.0 6.1 ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๓, ตอน ๓๔, ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๙, หน้า ๔๑๘

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]