พระเทพวิสุทธิมงคล (ศรี มหาวีโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเทพวิสุทธิมงคล

(ศรี มหาวีโร)
ส่วนบุคคล
เกิด3 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 (94 ปี 105 วัน ปี)
มรณภาพ16 สิงหาคม พ.ศ. 2554
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดประชาคมวนาราม ร้อยเอ็ด
อุปสมบทพ.ศ. 2488
พรรษา66
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดประชาคมวนาราม

พระเทพวิสุทธิมงคล หรือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อดีตเจ้าอาวาสวัดประชาคมวนาราม

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิด[แก้]

นามเดิมของท่านชื่อ ศรี เกิดในสกุลปักกะสีนัง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 ตรงกับวันศุกร์ เดือนหก ปีมะเมีย ที่บ้านขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โยมบิดาชื่อนายอ่อนสี โยมมารดาชื่อนางทุม ปักกะสีนัง

การศึกษา[แก้]

ในช่วงปฐมวัยท่านเข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดบ้านขามป้อม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำท้องถิ่น จบชั้นประถมปีที่ 6 และได้ขวนขวาย เข้ามาเรียนต่อ ที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด จนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2480 การศึกษาของท่าน ในยุคสมัยนั้น นับว่าอยู่ในขั้นดี ท่านได้เข้ารับราชการ เป็นครูในปีรุ่งขึ้น หลังจากสำเร็จการศึกษา ชีวิตการเป็นครู ท่านเริ่มที่ โรงเรียนวัดบ้านชาด ตำบลหัวเรือ จังหวัดมหาสารคาม และต่อมาที่โรงเรียน บ้านสวนจิก ตำบลปอภาร จังหวัดร้อยเอ็ด

บรรพชาอุปสมบท[แก้]

ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2488 ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์รังสรรค์ บ้านป่ายาง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระโพธิญาณมุนี (ดำ โพธิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา ทางพระพุทธศาสนา เป็นมคธว่า "มหาวีโร" พรรษาแรก ในชีวิตสมณะผู้ละวาง ท่านได้พำนักศึกษาปฏิบัติธรรม อยู่กับท่านพระอาจารย์คูณ อุตตโม วัดประชาบำรุง มหาสารคาม ปีต่อมา พ.ศ. 2489 ท่านได้จาริกไปจำพรรษ ที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีโอกาสศึกษา ปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนา กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นศิษย์สำคัญของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ออกจาริกแสวงธรรม[แก้]

เมื่อออกพรรษาแล้วพระศรี มหาวีโรในครั้งนั้นได้ออกจาริกแสวงธรรม ไปตามวนาป่าเขาราวไพร อาทิ ภูเก้า ภูผักกูด บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันขึ้นกับจังหวัดมุกดาหาร) ซึ่งที่ภูผักกูด หรือภูผากูดแห่งนี้ เป็นสัปปายะสถาน ที่พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เคยธุดงค์จาริก มาพำนัก เป็นแหล่งเจริญธรรม ที่ผู้กล้าแห่งกองทัพธรรม ได้มาประพฤติธรรม บำเพ็ญเพียร ด้วยเป็นสถานที่อยู่ไกลจากชุมชน ขาดแคลนขัดสน ในปัจจัยสี่ แต่มีภูมิทัศน์ ที่เหมาะแก่การพัฒนา ภูมิธรรมสัมมาปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

ปี พ.ศ. 2490 หลวงปู่ศรี มหาวีโร ธุดงค์ไปพำนักที่ถ้ำพระเวส ครั้นเข้าพรรษา ได้ไปจำพรรษา ที่วัดบ้านนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งในยุคสมัยนั้น เป็นดินแดนที่ครุกรุ่นไปด้วยสถานการณ์ แห่งความขัดแย้ง ด้านอุดมการณ์ทางการเมือง และสังคม แต่ท่านก็อยู่ด้วยความราบรื่น ปราศจากอันตราย จนกระทั่ง ออกพรรษา จึงจาริกไปยังจังหวัดสกลนคร และปี พ.ศ. 2491 เข้าจำพรรษา ที่วัดโนนนิเวสน์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการเดินตามทางรอยธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์ คือหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเคยมาพำนักที่วัดแห่งนี้มาแต่ครั้งอดีต ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาบารมีธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระบุพพาจารย์ใหญ่ ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งขณะนั้น อยู่ในช่วงปัจฉิมวัย พำนักอยู่ที่สำนักป่า บ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์ศรี มหาวีโร จึงเข้าไปกราบนมัสการ พระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่สำนักป่าบ้านหนองผือ ขออนุญาต พำนักจำพรรษา และศึกษาธรรมกับท่าน ซึ่งหลวงปู่มั่น ก็เมตตาอนุญาต นับเป็นโอกาส อันเป็นมหามงคล ในชีวิตบรรพชิต ที่มีโอกาสศึกษาธรรม และอุปฏฺฐากพระบุพพาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รวมทั้งมีโอกาสเจริญธรรม กับสหธรรมิกร่วมสำนัก ร่วมครูอาจารย์เดียวกัน เมื่อหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาพาธพระอาจารย์ศรี ก็มีโอกาสถวายการปฏิบัติ เมื่อท่านพระอาจารย์ใหญ่ถึงแก่มรณภาพ ก็นำความวิโยคอาดูร มาสู่ผู้เป็นศิษย์ ผู้เคารพศรัทธาครูอาจารย์ อย่างสุดจิต สุดใจ พระอาจารย์ศรี มหาวีโร ได้ถวายสักการะ สรีระ หลวงปู่มั่น เป็นครั้งสุดท้าย ในงานถวายเพลิง ฌาปนกิจ ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

ต่อมาปี พ.ศ. 2493 พระอาจารย์ศรี มหาวีโร ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนอง ผักตบ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และปีต่อมา ได้มีโอกาส ไปพำนัก จำพรรษาที่ วัดบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ได้มีโอกาส ศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในสำนักแห่งนี้

ปี พ.ศ. 2495 ได้ร่วมสร้างวัดป่าหนองแซง โดยบัญชาของพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี

ท่านพระอาจารย์ศรี ได้ออกจาริกห่างถิ่นมหาสารคาม และร้อยเอ็ดไปนานหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ท่านจาริกมายังวัดป่ากุง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาประมาณ 170 ปี ท่านเป็นผู้นำศรัทธา ในการพัฒนาวัดป่ากุง ให้เรืองรุ่งโดยลำดับ จนกระทั่งเป็น "วัดประชาคมวนาราม" ที่งามสง่า เป็นศาสนสถาน อันไพศาล สำหรับชาวพุทธ ผู้ศรัทธาในธรรมะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และดำเนินตามธรรมวิถีของพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่ศรี มหาวีโร จำพรรษาที่วัดประชาคมวนาราม หรือวัดป่ากุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ท่านเป็นผู้นำ เป็นธุระในกิจการงาน พระศาสนา อย่างจริงจังและ มั่นคง สร้างคุณูปการและสาธารณประโยชน์ เป็นจำนวนมาก

สมณศักดิ์[แก้]

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2528 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร[1]
  • 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวรอุดม บรมญาณดุสิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[2]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิสุทธิมงคล วิมลญาณดิลก สาธกวิปัสสนาธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]

นอกจากนั้นท่านยังได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2546 โดยมีสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำมาประทานมอบให้

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล[แก้]

ไฟล์:พระมหาเจดีย์ชัยมงคล.jpg
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

ที่เป็นงานยิ่งใหญ่อลังการคือการก่อสร้าง "พระมหาเจดีย์ชัยมงคล" ณ วัดเจดีย์ชัยมงคล อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด พระมหาเจดีย์ชัยมงคลแห่งนี้ เป็นผลานิสงส์แห่งแรงศรัทธา ของชาวพุทธ ต่อพระบวรพุทธศาสนา ต่อพระสุปฏิปันโน ต่อบารมีธรรม ของพระเทพวิสุทธิมงคล(หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ที่มุ่งเพื่อประโยชน์ ต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันเป็นหลักชัยหลักใจของชาวไทย หมายจรรโลงพระพุทธศาสนา สืบสานศิลปวัฒนธรรม งานพุทธศิลปให้สถิตสถาพรสืบไป รูปแบบอันวิจิตร เป็นศิลปผสมความยิ่งใหญ่ ของพระปฐมเจดีย์ กับความ โอฬารของพระธาตุพนม กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียว ประดิษฐานตระหง่าน ตระการตา ด้วยศิลปกรรม อันล้ำเลิศ ด้วยฝีมือลูกหลานไทย เป็นนฤมิตกรรมแห่งยุคสมัย ที่จะเป็นปูชนียสถานสำคัญ ของไทย และของโลกวัฒนา สืบต่อไปภายภาคหน้า ในยามเช้าผู้คนจากบ้านไกลเรือนไกล จากหลายถิ่น จะมารวมกัน ที่หน้าวัดประชาคมวนาราม เพื่อเตรียมถวายภัตตาหาร บิณฑบาตรพระคุณเจ้า เป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชน จะได้กราบนมัสการหลวงปู่ศรี อย่างใกล้ชิด บางรายบางท่าน ก็มาขอพึ่งบารมีธรรมของท่าน ซึ่งท่านก็เมตตาเสมอตลอดมา

การบิณฑบาต เป็นธุดงควัตรที่พระกรรมฐานประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่ศรีจะตื่นแต่ดึก ออกเดินไปรอบ ๆ วัด จนถึงเวลาบิณฑบาต ท่านเป็นผู้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงแม้ช่วงที่มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว หลังจากบิณฑบาตรแล้ว สาธุชนจะร่วมกันถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านเป็นพระวิปัสนาจารย์กรรมฐาน ที่มีความสามารถอย่างสูงในการแจกแจงแสดงธรรม หลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นพระเถราจารย์ ผู้เปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม เป็นเนื้อนาบุญอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา เป็นพระป่า พระกรรมฐาน ที่ศิษย์เคารพ ศรัทธา อย่างมหาศาล เป็นสมณะผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่างสิ้นสงสัย

เจดีย์หิน[แก้]

"เจดีย์หิน" ณ วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด

มรณภาพ[แก้]

พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) พระวิปัสนาจารย์ชื่อดังภาคอีสาน ละสังขารแล้วเมื่อเวลา 05.34 น. วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ด้วยโรคชรา ภายในศาลากลางน้ำ วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด อายุ 94 ปี 3 เดือน 13 วัน ( 66 พรรษา) หลังจากหลวงปู่ฯ อาพาธมาตั้งแต่ ปี 2550 ศิษย์ยานุศิษย์นำเข้ารักษาตัวและเข้าออก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่นจำนวนหลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555 ณ เมรุชั่วคราว วัดประชาคมวนาราม ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 103, ตอนที่ 20 ง ฉบับพิเศษ, 7 กุมภาพันธ์ 2529, หน้า 3
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 109, ตอนที่ 101 ง ฉบับพิเศษ, 11 ธันวาคม 2545, หน้า 7
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 119, ตอนที่ 23 ข, 11 ธันวาคม 2545, หน้า 4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]